ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 เมษายน 2568 ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศร้อยละ 10 ตั้งแต่ 5 เมษายน 2568 และขึ้นภาษีนำเข้าแบบเฉพาะเจาะจงต่อประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ 9 เมษายน 2568 เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแต่ละประเทศคู่ค้าจะถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าแตกต่างกัน และสินค้าบางรายการจะถูกเก็บภาษีมากกว่าสินค้าอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ทองแดง ยารักษาโรค อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุบางชนิดและพลังงาน มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะสร้างยุคทอง (Golden Age) และปลดปล่อย (Liberation Day) ชาวอเมริกันจากนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และทำให้สหรัฐฯ ไม่เสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศอีกต่อไป
มาตรการภาษีทั้งหมดที่ประกาศจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 5 และ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป จนกว่าผู้นำสหรัฐฯ จะพิจารณาแล้วว่าประเทศดังกล่าวไม่มีนโยบายเป้นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือแก้ไขปัญหาได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ได้อย่างเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าทำให้ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ผันผวน และการใช้มาตรการนี้กดดันประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตร อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศความร่วมมือด้านการค้าและอื่น ๆ เนื่องจากหลายประเทศระบุว่าจะตอบโต้สหรัฐฯ ในระดับเดียวกัน และคาดว่านโยบายของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะทำให้เกิดสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก จากที่ก่อนหน้านี้ บรรยากาศการค้าตึงเครียดอยู่แล้วเพราะหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายแบบ protectionism หรือการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและห่วงโซ่อุปทานของตนเองเป็นหลัก
สำหรับรายละเอียดมาตรการภาษี สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าแตกต่างกัน คือ แคนาดาและเม็กซิโกร้อยละ 10, 12 และ 25 ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า สหภาพยุโรปร้อยละ 20 สหราชอาณาจักรร้อยละ 10 ส่วนประเทศในเอเชียเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ กัมพูชาร้อยละ 49 สปป.ลาวร้อยละ 48 เวียดนามร้อยละ 46 เมียนมาและศรีลังหาร้อยละ 44 บังกลาเทศร้อยละ 37 ไทยร้อยละ 36 จีนร้อยละ 34 ไต้หวันร้อยละ 32 ปากีสถานร้อยละ 29 อินเดียร้อยละ 26 เกาหลีใต้ร้อยละ 25 ญี่ปุ่นร้อยละ 24 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 17 และสิงคโปร์ร้อยละ 10
การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศการค้าโลกและทิศทางการกำหนดนนโยบายการค้าของต่างประเทศ รวมทั้งเป้นความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ที่จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้ยกเว้นมาตรการภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ กังวลกับมาตรการนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบร้อยละ 25 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่การกระทบผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าส่วนประกอบจากต่างประเทศ คาดว่าหลังจากนี้จะมีการเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อไป