ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางเยือนภูมิภาคเอเชีย ตอ.ต. ระหว่าง 14-18 เม.ย.68 ประกอบด้วย เวียดนาม 14-15 เม.ย.68 มาเลเซีย 15-17 เม.ย.68 และกัมพูชา 17-18 เม.ย.68 เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคที่จีนให้ความสำคัญลำดับแรกตามนโยบายการทูตประเทศเพื่อนบ้าน (Neighbourhood Diplomacy) และสร้างแนวร่วมรับมือกับมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวเอเชีย” (Asian Family) ที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นเอกภาพ ความร่วมมือ และผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ การเยือนดังกล่าวยังมีนัยสำคัญยิ่งขึ้นในภาวะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังถดถอยจากความตึงเครียดทางการค้าและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับจีน แต่ก็พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ โดยเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชามีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 34 ร้อยละ 16 และร้อยละ 38 เมื่อปี 2567 ตามลำดับ ขณะที่ถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 46 ร้อยละ 24 และร้อยละ 49 ตามลำดับ
ในการหารือระหว่างประธานาธิบดีสีกับ นรม. ฝั่ม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนาม สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความเข้าใจปกป้องระบบการค้าพหุภาคี รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานโลก และส่งเสริมสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง โดยได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือรวม 45 ฉบับ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้าดิจิทัล และการพัฒนาระหว่างประเทศ การเยือนเวียดนามโดยผู้นำจีนเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนกับประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามมีท่าทีที่ไม่รุนแรงและมุ่งใช้วิธีการประนีประนอมในการแก้ไขความขัดแย้งทั้งนี้ เวียดนามยังเป็นตัวเลือกหลักในการเป็นฐานการผลิตและการส่งออก ส่งผลให้เวียดนามมีความสำคัญในลำดับต้นสำหรับจีนเพื่อรับมือกับมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีสีนำเสนอ “ข้อเสนอ 3 ประการ” (three-point proposal) ในการหารือกับ นรม. อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ได้แก่ ยึดมั่นในความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์และส่งเสริมการประสานงานเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงร่วมกัน เสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันและเป็นแบบอย่างของความร่วมมือด้านการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และสืบสานพันธมิตรระหว่างสองประเทศจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเสริมสร้างประชาคมเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงและมีอนาคตร่วมกัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งลงนามในเอกสารข้อตกลงร่วมกันจำนวน 31 ฉบับ ครอบคลุมถึงความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มพัฒนาโลก (Global Development Initiative-GDI) ข้อริเริ่มความมั่นคงโลก (Global Security Initiative-GSI) และข้อริเริ่มอารยธรรมโลก (Global Civilization Initiative-GCI) ของจีน ขณะที่ นรม. อันวาร์ ชื่นชมบทบาทของข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งระบุถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะยึดมั่นในแนวคิดพหุภาคี (multilateralism) และการค้าเสรี ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์ของความเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 ขณะที่จีนอาจใช้การเยือนมาเลเซียเพื่อขับเคลื่อนวาระของจีนในกรอบการดำเนินงานของอาเซียน รวมถึงเสนอภาพลักษณ์ความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคที่เชื่อถือได้และมีความรับผิดชอบท่ามกลางความวิตกกังวลในภูมิภาคเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
จีนย้ำถึงความยึดมั่นในมิตรภาพที่เหนียวแน่น (Ironclad) ในห้วงการเยือนกัมพูชา ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่สอดคล้องกัน ขณะที่จีนยังเป็นแหล่งที่มาอันดับ 1 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีสี ได้ร่วมหารือกับสมเด็จฯ ฮุน มาแนต นรม.กัมพูชา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารข้อตกลงรวม 37 ฉบับ อาทิ การค้า การลงทุน การศึกษา และกิจการเยาวชน รวมถึงข้อตกลงการจัดสรรเงินทุนจากจีนเพื่อสนับสนุนโครงการคลองฟูนัน-เตโช ในกัมพูชา ทั้งนี้ การย้ำถึงมิตรภาพที่เหนียวแน่น และการสนับสนุนโครงการคลองฟูนัน-เตโชจะส่งเสริมการขยายอิทธิพลของจีนในกัมพูชา ทั้งยังอาจมีนัยเกี่ยวเนื่องหลังจากจากกัมพูชาเปิดใช้งานศูนย์ฝึกอบรมและสนับสนุนท่าเรือเรียมจีน-กัมพูชา เมื่อ 5 เม.ย. 68 ซึ่งอาจเอื้อให้จีนใช้ประโยชน์จากท่าเรือเรียมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของจีนในการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การเยือนภูมิภาคเอเชีย ตอ.ต.ของจีนสะท้อนถึงความพยายามที่จะนำเสนอความเป็นหุ้นส่วนที่ส่งเสริมแนวคิดพหุภาคี และการพัฒนาที่มุ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนกับภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การเยือนของจีนอาจเกิดข้อสังเกตว่าจีนไม่ได้มีกำหนดการที่จะเยือนไทย ซึ่งอาจประเมินได้ว่าไทยกับจีนมีปฏิสัมพันธ์และกระชับความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน และการเยือนจีนของ นรม. ไทย เมื่อ ก.พ.68 ขณะเดียวกัน การที่มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 ยังอาจมีส่วนช่วยในการสื่อสารวาระของจีนไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผู้นำมาเลเซียยังได้เดินทางเยือนไทยหลังจากพบหารือกับผู้นำจีนเมื่อ 17 เม.ย.68 และมีแนวโน้มว่ามาเลเซียจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญจากการหารือระหว่างจีน-มาเลเซีย ในระหว่างการเยือนไทย