วิเคราะห์เศรษฐกิจยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
คงจะกล่าวได้อย่างเต็มปากไม่ยากแล้วว่าปี 2565 ที่ผ่านมานี้ คือ จุดเริ่มต้นของยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอีกครั้ง จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (Fed policy rate) ที่กำลังจะทะยานขึ้นไปสู่ระดับ 5% ภายในปี 2566 เนื่องจากตัวเลขการจ้างงาน อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกายังไม่กลับไปสู่จุดที่ Fed มองว่าเป็นระยะปลอดภัย อีกทั้งหากพิจารณาจากสุนทรพจน์ของ Jerome Powell ในฐานะประธาน Fed ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจนถึงกลางปี 2566 และตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเอาไว้ประมาณ 1-2 ปี จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาที่ระดับ 2-4% หากจะให้อธิบายเกี่ยวกับนิยามของยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างง่ายนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องต่ำ (low liquidity) ตั้งแต่รายย่อยอย่างประชาชนรายครัวเรือนจะเริ่มใช้จ่ายน้อยลง เก็บออมเงินมากขึ้นจากการที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีอัตราสูงขึ้น บางธนาคารเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนรายใหญ่อย่างนักลงทุนระดับสถาบัน และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายๆแห่งเองก็จะชะลอการลงทุนลง เพราะการกู้เงินมาขยายธุรกิจในขณะนี้มีภาระด้านดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น กล่าวคือ ภาพรวมของตลาดขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการถือเงินสด (โดยเฉพาะบางสกุลเงิน) เอาไว้เฉยๆมีโอกาสจะได้ผลกำไรงอกเงยมากกว่าการนำไปจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุน เมื่อพิจารณาเอาจากห้วงที่ผ่านมานี้ นอกจากการฝากหรือแลกเงินสดเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพื่อพักเงินจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว สินทรัพย์ที่ดูจะได้รับความสนใจจากบริษัทข้ามชาติและรัฐบาลในหลายประเทศ คงหนีไม่พ้นกลุ่มโลหะมีค่า (precious…