ไต้หวัน – จีน : ความเป็นตายของมนุษย์เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง
ไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีนดำรงอยู่บนเกาะไต้หวันตั้งแต่ปี 2492 โดยพรรคก๊กมินตั๋งและประชาชนจีนประมาณ 1.2 ล้านคนอพยพไปตั้งถิ่นฐานหลังพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมือง ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) พยายามช่วงชิงความเป็น“จีน”ในพื้นที่การเมืองโลกมาโดยตลอด แรกเริ่มจีนแผ่นดินใหญ่ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ขณะที่ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกและได้เป็นตัวแทน “จีน” ในสหประชาชาติ จนกระทั่งในปี 2514 สหรัฐอเมริกาประกาศเริ่มต้นความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ยอมรับนโยบายจีนเดียวเป็นพื้นฐานของการเจริญสัมพันธไมตรี ปีเดียวกันนี้สหประชาชาติประกาศยอมรับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นตัวแทนของจีนในระดับองค์การระหว่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันจีนยังคงยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน โดยสะท้อนผ่านกฎหมายต่อต้านการการแบ่งแยกดินแดน (Anti-secession Law) ที่การรวมชาติเป็นหน้าที่ของชาวจีนทุกคนรวมถึงชาวไต้หวัน นอกจากนี้ กระแสชาตินิยมและความเป็นจีนเดียวยังรุนแรงขึ้น จากกรอบแนวคิด Chinese Dream ในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ใช้ในการนำพาจีนสู่ความยิ่งใหญ่ และรุ่งเรืองเหมือนในอดีตก่อนถูกรุกรานจากตะวันตกและญี่ปุ่น ปลายปี 2562 โลกได้เผชิญความท้าทายใหม่ หลังมีการพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งในปี 2563 เชื้อไวรัสนี้ก็ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ความหวังของเหล่ามนุษยชาติสำหรับการหยุดยั้งการแพร่ระบาดคือวัคซีน โดยวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบัน คือวัคซีนที่ป้องกันอาการรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ แต่ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้ออาจจะแตกต่างกันไป ในการระบาดของโรค COVID-19 ช่วงแรก ไต้หวันควบคุมการระบาดได้ดีด้วยมาตรการที่เข้มงวดและใช้เทคโนโลยีสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข รวมทั้งจำกัดผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงแรกน้อยกว่าหลักพัน การแพร่ระบาดที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้ไต้หวันเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ…