โหราศาสตร์กับการเมืองไทย
“มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราษฎร์โจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาวศิวิไลซ์” ถ้อยคำไม่กี่คำที่คาดการณ์ว่าเป็นการทำนายทายทักเกี่ยวกับการเมืองไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งเป็นคำทำนายฉบับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ของ “สมเด็จโต” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี หลังจากที่ “สมเด็จโต” มรณภาพเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2415 ในรัชกาลที่ 4 เช้าวันรุ่งขึ้น นายอาญาราช (อิ่ม) ศิษย์ก้นกุฏิได้เข้าไปเก็บกวาดในกุฏิ ก็พบกระดาษแผ่นหนึ่งซุกอยู่ใต้เสื่อ มีลายมือของท่านเขียนคำไว้ 10 คำ ตามที่กล่าวข้างต้น จึงตีความกันว่าเป็นคำพยากรณ์คาดการณ์อนาคตบ้านเมืองของ “สมเด็จโต” จากอดีตที่ผ่านมาก็ได้มีการตีความของคำทำนาย โดยผูกโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองและการเมืองของไทยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โหราศาสตร์เดิมเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีผู้รู้จำกัด เพราะเหมือนถูกผูกขาดโดยมีผู้รู้เฉพาะชนชั้นสูงในสังคม และผู้คนในสังคมไทยก็มีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการถือฤกษ์ถือยามในเรื่องพระราชพิธี ฤกษ์ยามเฉลิมฉลอง การทำภารกิจใหญ่โตสำคัญ นอกจากนี้ความเป็นศาสตร์ยังอยู่ที่การมีหลักเกณฑ์ มีการเก็บสถิติ ความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ของดวงดาว ความสัมพันธ์ระหว่างดวงดาวแต่ละดวง การจับกลุ่ม และที่ตั้งของดวงดาว การเก็บข้อมูลเหล่านี้ทำกันมาหลายพันปี จนได้แบบฉบับหลายแบบนับเป็นพัน ๆ แบบที่เกิดขึ้น ดวงดาวแต่ละดวงก็เป็นตัวแทนของคุณสมบัติทั้งด้านดีและด้านร้าย…