เมื่อทรัพยากรกลายเป็นสินค้าที่คนนิยมและมีความต้องการสูงขึ้น มูลค่าของสินค้านั้นย่อมปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด ใครก็ตามที่ครอบครองทรัพยากรและสามารถผลิตสินค้านั้นได้ จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจการต่อรอง จนไปถึงสามารถขยายอิทธิพลเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเหล่านั้นไว้ เพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การขยายอิทธิพลนี้มีขึ้นหลากหลายรูปแบบ เช่น การล่าล้างหมู่บ้านชนพื้นเมืองเพื่อทำเหมืองทองคำในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2415 หรือการพัฒนาชาสายพันธุ์อินเดียที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการกีดกันการค้าชาของจีนต่อชาติตะวันตกเมื่อปี 2377 ดังนั้น “ทรัพยากร ความต้องการ และการค้า” เป็นกระแสในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนถึงปจจุบัน ในยุคที่เราใช้เครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์มากมายในการดำรงชีวิตอย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องบิน เครื่องเล่นเกมส์ ของเล่น เครื่องจักร ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็วภายใต้ระบบการสื่อสารไร้สายหรือการเก็บข้อมูลในอากาศ (cloud) ความอัจฉริยะที่เราได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ล้วนประมวลผลผ่านชิพอันเล็กๆ ที่เรียกได้ว่า “ยิ่งเล็กยิ่งดี” และกว่าจะได้ชิพมานั้นไม่ได้ง่าย จำเป็นต้องทำการสังเคราะห์ผลึกซิลิกอนในห้องทดลองที่มีความสะอาดสูง เพื่อให้ได้ชิพที่มีประสิทธิภาพและมีขนาดบางพอที่จะอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกรูปแบบได้ เพื่อให้เราสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว ไม่ต้องพกมือถือเครื่องใหญ่ๆ เทอะทะเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องคอยสับสวิตซ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือพกรีโมทหลายอันสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท รวมไปถึงการใช้ชิพเป็นส่วนหนึ่งของการ์ดจอในคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการขุดหาบิทคอยด์ที่สามารถสร้างมูลค่าและเป็นที่สนใจให้กับผู้ลงทุนอย่างมหาศาลในปัจจุบัน แน่นอนว่า มีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงการใช้ชิพในการดำรงชีวิต แต่สำหรับชีวิต สังคม และเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันนั้นเป็นไปได้ยากที่จะสามารถดำเนินต่อไปได้ หากปราศจากการประมวลผลที่รวดเร็วจากชิพ ระบบจะเชื่องช้าและหยุดนิ่งไปจะส่งผลกระทบได้มากกว่าที่เราคิด ในยุคของโลกดิจิทัลนี้ เหมือนกับว่าเราจะดำรงชีวิตไม่ได้โดยขาดชิพ…