Defence Diplomacy: เครื่องมือทางการทูตเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ
ท่ามกลางความข้ดแย้งและแข่งขันของหลากตัวแสดงบนเวทีโลก ทั้งในกรณีการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองในเมียนมา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ทำให้คำอธิบายด้านรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาการระหว่างประเทศได้รับความสนใจจากสาธารณชนเพิ่มขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและมุ่งหาทางออกจากสถานการณ์ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ โดยมอง “การทูต” ในมิติที่กว้างกว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่เป็นการปฏิสัมพันธ์ “ประเด็นอะไร” (What) และ “อย่างไร” (How) ทำให้เราเห็นการทูตที่มีคำคุณศัพท์ เช่น การทูตเชิงวัฒนธรรม (cultural diplomacy) การทูตวิทยาศาสตร์ (science diplomacy) การทูตเชิงเงียบ (quiet diplomacy) การทูตโดยฝ่ายทหาร (defence diplomacy) เป็นต้น ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา เครื่องมือทางการทูตถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ในเวทีโลก สำหรับคำว่า Defence Diplomacy พบว่ามีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า การทูตโดยฝ่ายทหารและการทูตเชิงป้องกัน ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงการทูตเชิงป้องกันจะไปพ้องกับกรอบคิด preventive diplomacy จึงเลือกใช้คำว่า การทูตโดยฝ่ายทหารในบทความนี้ แนวคิด การทูตโดยฝ่ายทหาร เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น โดยสหราชอาณาจักรพยายามส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว เพื่อรักษาสันติภาพ โดยประเทศอื่นๆ ตอบรับและนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการทูตโดยฝ่ายทหารเป็นความพยายามของรัฐ ในการใช้เครื่องมือและขีดความสามารถทางการทหารเพื่อรักษาสันติภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง…