วิกฤตมนุษยธรรมระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน: เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค
ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานที่คุกรุ่นจากการปะทะกันมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องในพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) กลายมาเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากสื่อและประชาคมโลกมากขึ้นในขณะนี้ หลังจากเมื่อ 19 กันยายน 2566 ที่อาร์เซอร์ไบจานเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ในดินแดนนากอร์โน-คาราบัคอีกครั้ง พื้นที่ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ อยู่ทางตอนเหนือของอิหร่าน และทางตอนใต้ของรัสเซีย โดยในช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและได้มีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานขึ้นเมื่อพ.ศ. 2534 พื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับการรับรองจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน แม้ว่าแท้จริงแล้ว ประชากรส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายอาร์เมเนียและมีการบริหารพื้นที่ประหนึ่งเป็นรัฐเอกราชโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายอาร์เมเนียก็ตาม โดยพวกเขาจะเรียกตนเองว่าสาธารณรัฐอาร์ตซัค (Republic of Artsakh) จากนั้นมาพลเมืองในพื้นที่และรัฐบาลอาเซอร์ไบจานต่างฝ่ายก็อ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนแห่งนี้ จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นเรื่อยมา การกระทบกระทั่งกันระหว่างอาร์เซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดจนขยายกลายเป็นสงครามนั้นก็เกิดขึ้นในปี 2563 ในครั้งนั้น สงครามระหว่างอาเซอร์ไบจานกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนียได้ดำเนินไปเป็นเวลา 44 วัน จบลงด้วยชัยชนะของอาเซอร์ไบจานที่ได้รับการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากตุรกี หลังจากนั้นกองกำลังแบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานก็ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงโดยมีรัสเซียเป็นคนกลางในการเจรจา หนึ่งในประเด็นสำคัญของข้อตกลงคือ การให้หลักประกันความมั่นคงบริเวณระเบียงลาชิน (Lachin corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางบกทางเดียวที่เชื่อมต่อจากอาร์เมเนียเข้าไปสู่รัฐนากอร์โน-คาราบัค โดยทหารรัสเซียเป็นผู้รักษาสันติภาพรับผิดชอบบริเวณเส้นทางนี้ แต่ทว่าข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวถูกละเมิดอยู่หลายครั้งโดยทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายก็กล่าวหากันและกันว่าทำการโจมตีอย่างหนักต่อพลเรือนในพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค และทำให้เกิดการปะทะรุนแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อ ธันวาคม 2565 อาเซอร์ไบจานเริ่มปิดล้อมถนนบริเวณระเบียงลาชิน ที่เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสิ่งของจำเป็นเข้าสู่ดินแดนดังกล่าว ส่งผลให้การเดินทางเข้าออกพื้นที่ระหว่างอาร์เมเนียกับนากอร์โน-คาราบัค เป็นไปด้วยความยากลำบาก ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียที่อยู่ในพื้นที่แห่งนั้นเผชิญกับสภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน เชื้อเพลิง รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จนนานาประเทศหวั่นว่าจะกลายเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม และอาจรวมถึงการเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย เพราะการปิดกั้นเส้นทางจากอาร์เมเนียไปสู่รัฐนากอร์โน-คาราบัค…