พื้นที่ของภูเขา ปกติจะคิดรวมครอบคลุมตั้งแต่บริเวณตีนเขาจนถึงยอดเขา โดยมีข้อกำหนดให้พื้นที่ดินใดก็ตาม ที่มีความลาดเอียงหรือความชันตั้งแต่ 35% ขึ้นไป นับว่าเป็น “ภูเขา” ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสงวนไว้เป็นแหล่งธรรมชาติ เพราะในอดีต ความลาดเอียงของภูเขา เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการก่อสร้างอาคาร การทำการเกษตร มนุษย์ส่วนใหญ่จึงเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มที่มีแหล่งน้ำไหลผ่านมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พัฒนาการความรู้ในการก่อสร้างและเอาตัวรอด ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลาดเอียงหรือภูเขามากขึ้น เช่น การปรับพื้นที่ลาดเอียงให้เป็นพื้นที่ราบขนาดเล็กเหมือนขั้นบันได หรือการเพาะปลูกโดยเลือกพันธุ์พืชที่ต้องการน้ำน้อย ดังนั้น แม้ภูเขาจะมีความลาดเอียงเหมือนเดิม แต่สุดท้ายมนุษย์ก็สามารถเข้าไปจับจองเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินได้ ส่วนที่สูงที่สุดของภูเขา คือ ยอดเขา ที่จะมีลักษณะทอดตัวเป็นแนวยาวเป็นสันเขา เมื่อน้ำฝนตกลงมาสันเขาจะทำหน้าที่แบ่งน้ำฝนให้ไหลลงภูเขาในแต่ละด้าน และมีชื่อเรียกแนวสันเขานี้ว่า “สันปันน้ำ” ภูเขาหนึ่งลูกอาจมีสันปันน้ำมากกว่า 1 แนว ตามลักษณะของภูมิศาสตร์ และแนวสันปันน้ำนี้มักถูกใช้เป็นเส้นแบ่งขอบเขตการปกครองหรือขอบเขตที่ดิน เพราะเป็นแนวที่สังเกตได้ง่าย และยังเปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ภูเขาหนึ่งลูกตั้งแต่ตีนเขาถึงแนวส่วนยอดเขาก็จะถูกแบ่งตามแนวสันปันน้ำออกเป็นส่วน ๆ ได้อีก เมื่อน้ำฝนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดน้ำจากธรรมชาติ ไหลตามสันปันน้ำลงมาตามความลาดเอียงของภูเขา ยิ่งความลาดเอียงมากก็จะไหล่ผ่านโดยเร็ว ไม่ได้ถูกกักไว้ และไม่สามารถซึมลงดินได้มากเท่ากับพื้นที่ที่มีความลาดเอียงต่ำกว่า แต่หากมีสิ่งกีดขวางที่คอยดักน้ำฝนตามแนวลาดของภูเขาก็จะช่วยชะลอน้ำให้ซึมลงใต้ดิน และภูเขาก็จะเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ แหล่งตาน้ำต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ซึ่งสิ่งกีดขวางตามธรรมชาตินั้น ก็คือ “ป่า” หรือต้นไม้ที่มีระบบรากนำน้ำลงสู่ดินนั่นเอง…